สำนักงาน คปภ. ติวเข้ม “อนุญาโตตุลาการ–ผู้ไกล่เกลี่ย” ถอดบทเรียน 1 ปี กระบวนการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัย

77
0
Share:

สำนักงาน คปภ. ติวเข้ม “อนุญาโตตุลาการ–ผู้ไกล่เกลี่ย” ถอดบทเรียน 1 ปี กระบวนการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัย

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ย สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ย ของสำนักงาน คปภ. ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติงานรวมทั้งประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติงานการระงับข้อพิพาทร่วมกัน เนื่องจากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยแต่ละท่านได้พบกับประเด็นข้อพิพาท
ที่หลากหลาย แต่ละท่านอาจมีเทคนิคหรือประสบการณ์ในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น การสัมมนาอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. จึงมีประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย

สำหรับในการสัมมนาในครั้งนี้สำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอประเด็นปัญหาด้านประกันภัยที่สำคัญและน่าสนใจซึ่งอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยควรได้รับทราบ เช่น การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เจอ-จ่าย-จบ ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความเดือดร้อนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยโดยรวม นายทะเบียนจึงมีคำสั่งที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้ยื่นฟ้องสำนักงาน คปภ. ต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษาว่าคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและให้ยกฟ้อง จากเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เห็นความสำคัญในการทำหน้าที่ตามบทบาทและภารกิจโดยยึดมั่น ความถูกต้อง เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยภายใต้อำนาจกำกับดูแลที่กฎหมายกำหนด

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยโดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยแบ่งผู้เข้าสัมมนาออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งประสบการณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก ปัญหาข้อพิพาทค่าสินไหมทดแทน เกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์ EV ประเด็นที่ 2 ปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับความคุ้มครองกรณีทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหลายกรมธรรม์ ประเด็นที่ 3 ปัญหาข้อพิพาทค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ประเด็นที่ 4 ปัญหาข้อพิพาทการจ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย หรือใช้ใบขับรถจักรยานยนต์ไปขับขี่รถยนต์ และประเด็นที่ 5 ปัญหาข้อพิพาทค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาประกันสุขภาพโดยได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์โชติช่วง ทัพวงศ์ และนายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางในการพิจารณาประเด็นปัญหาข้อพิพาทที่สำคัญและน่าสนใจ เพื่อจะได้ระดมความคิดเห็นและช่วยกันเสนอแนะแนวทางการพิจารณา อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานทั้งของอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการประกันภัยแล้ว สำนักงาน คปภ. ยังได้มีการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ให้แก่อนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ย โดยปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือ รวมบทคัดย่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2567 โดยรวบรวมบทคัดย่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อนโดยได้คัดเลือกข้อพิพาทที่น่าสนใจไว้เป็นหมวดหมู่แบ่งตามประเภทของการประกันภัย จำนวน 58 เรื่อง เพื่อมอบให้แก่อนุญาโตตุลาการ ผู้ไกล่เกลี่ยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยที่ต้องการให้สำนักงาน คปภ. ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบออนไลน์ สำนักงาน คปภ. ก็ได้จัดทำห้องสำหรับไกล่เกลี่ยออนไลน์โดยเฉพาะ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ไกล่เกลี่ยทุกท่าน โดยนอกจากจะใช้ห้องดังกล่าวสำหรับไกล่เกลี่ยออนไลน์แล้ว ก็สามารถใช้ห้องดังกล่าวในการไกล่เกลี่ยแบบ on-site ในกรณีที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายประสงค์เข้ามาไกล่เกลี่ย ณ สำนักงาน คปภ. ได้ด้วย

การสัมมนาร่วมกันระหว่างอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ย รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย อันจะส่งผลทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น

Share: