สำนักงาน คปภ. เปิดเวทีทำความเข้าใจต่อร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย (กลุ่ม 2-3)
สำนักงาน คปภ. เปิดเวทีทำความเข้าใจต่อร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย (กลุ่ม 2-3)
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจต่อร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย โดยมีผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัย เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย เป็นมาตรการที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (2553 – 2557) และได้มีการดำเนินการผลักดันให้กฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยมีผลใช้บังคับมาอย่างต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (2564 – 2568) ซึ่งได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาหลักเกณฑ์ กฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่น มีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถกำกับความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสากล และส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมประกันภัย ดังนั้น ภารกิจในการผลักดันร่างกฎหมายในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสำนักงาน คปภ. ได้มีการกำหนดเป็นเป้าหมายในการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน โดยร่างกฎหมายแม่บททั้ง 2 กลุ่ม จะเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท และเพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสากล เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการสร้างกลไกและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังมีบทบัญญัติที่ส่งเสริมการควบโอนกิจการ รวมถึงกำหนดความรับผิดของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการเพื่อให้บริษัทมีระบบการบริหารกิจการที่ดี ดังนั้น
ร่างกฎหมายแม่บททั้ง 2 กลุ่ม จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยเปลี่ยนแปลง (Disrupt) มาตรฐานธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิม ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง แข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจประกันภัย (Strengthen the industry) ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมและความสามารถในการเผชิญต่อภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนเป็นการตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัย
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังมีการวาง Road Map ของระบบประกันภัยในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนต้องรู้กระบวนการและเป้าหมายของการประกันภัย และยังให้ความสำคัญในเรื่องการควบโอนกิจการ
ซึ่งกฎหมายแม่บทในกลุ่มที่ 3 จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการควบโอนกิจการในปัจจุบัน ทำให้การควบโอนกิจการระหว่างบริษัทประกันภัยเป็นไปอย่างคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนจะมีการสร้างกลไกและเครื่องมือใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยไปพร้อมกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เช่น การปรับข้อตกลงระดับบริการ Service Level Agreement (SLA) การสร้าง Marketplace หรือการสร้างระบบนิเวศประกันภัยดิจิทัล
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการอธิบายเพื่อทำความเข้าใจหลักการของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 กลุ่ม และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นต่าง ๆ ที่มีต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 กลุ่ม รวมถึงประเด็นที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจแตกต่างไปจากร่างพระราชบัญญัติเดิมทั้ง 2 กลุ่มที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความคิดเห็นที่ได้รับจากการจัดทำ Hearing มาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว
“เวทีการประชุมสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำลังจะมีผลใช้บังคับในอนาคต และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแลต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตและร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยทั้ง 2 กลุ่ม หากภาคธุรกิจมีข้อสงสัยรวมถึงข้อเสนอแนะใด ก็สามารถสอบถามและให้ข้อเสนอแนะแก่สำนักงาน คปภ. ได้ เพื่อที่สำนักงาน คปภ. จะได้รวบรวมเป็นข้อมูลไว้เพื่อประกอบการชี้แจงและปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 2 กลุ่ม ในกระบวนการตรากฎหมายในลำดับถัดไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย